เผยแพร่เมื่อ : เสาร์ 17 พฤษภาคม 2568 โดย นายชัชวาลย์ ศะศิวนิชย์ จำนวนผู้เข้าชม 49 คน
เมื่อวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๖๘ ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมคณะวิศวกรรมศาสตร์ ชั้น ๒ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เชียงใหม่ ดอยละเก็ด (มทร.ล้านนา) นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมเกียรติ วงษ์พานิช รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ลือโขง ผู้อำนวยการสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ (สวส.มทร.ล้านนา) ให้การต้อนรับ พลอากาศตรี จเด็ด คูหะก้องกิจ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ, เรือโท ธีรพล หนองหว้า ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารจัดการข้อมูลภัยคุกคามทางไซเบอร์ และนาวาเอก ทรงฤทธิ์ กิตติพีรชล ผู้เชี่ยวชาญด้านโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ พร้อมคณะจากสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) เพื่อศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับหลักสูตรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ในระบบเทคโนโลยีปฏิบัติการ (Operational Technology – OT Cybersecurity) และการส่งเสริมทักษะด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีปฏิบัติการ (OT) และเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT)
โดยมีเป้าหมายเพื่อรวบรวมข้อมูลสำหรับการออกแบบกิจกรรมฝึกและทดสอบขีดความสามารถทางไซเบอร์ระดับประเทศ หรือ Thailand’s National Cyber Exercise ๒๐๒๕ และเยี่ยมชมการสาธิตการใช้งานห้องปฏิบัติการ ICS ซึ่งจำลองระบบควบคุมจริงในภาคอุตสาหกรรม พร้อมทั้งรับฟังแนวทางการออกแบบสถานการณ์ฝึก (Cyber Drill Scenario) ที่สามารถนำไปใช้ในกิจกรรมระดับชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้และฝึกปฏิบัติด้านความมั่นคงไซเบอร์ในระบบควบคุมที่ใกล้เคียงกับสภาพแวดล้อมการทำงานจริงในภาคอุตสาหกรรม การดำเนินกิจกรรมในครั้งนี้ถือเป็นอีกก้าวสำคัญของการยกระดับขีดความสามารถทางไซเบอร์ของประเทศประเทศไทยผ่านความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา ซึ่งเป็นแหล่งองค์ความรู้และนวัตกรรมด้านไซเบอร์อย่างแท้จริง
นอกจากนี้ยังมี อาจารย์สาคร ปันตา, อาจารย์สาธิต รุ่งสว่าง และนายกฤษฎิ์ รัชชภูมิ จากหลักสูตรวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์และระบบควบคุมอัตโนมัติ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้แนะนำหลักสูตรสำคัญที่ตอบโจทย์อุตสาหกรรมยุค ๔.๐ ได้แก่ วิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์และระบบควบคุมอัตโนมัติ วิศวกรรมซอฟต์แวร์ วิศวกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และวิศวกรรมระบบราง โดยมีการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการศึกษา อาทิ ห้องปฏิบัติการ Cyber Range และระบบจำลอง (Simulation) เพื่อรองรับการเรียนรู้ด้าน OT และ IoT Security อย่างครบวงจร ในโอกาสนี้ นักศึกษาสาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ยังได้แสดงผลงานนวัตกรรมด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์จำนวน ๒ โครงการ ได้แก่ ระบบประเมินช่องโหว่เว็บไซต์ (Website Vulnerability Evaluation System) ซึ่งช่วยตรวจจับความเสี่ยงและช่องโหว่บนเว็บไซต์ที่อาจนำไปสู่การโจมตีทางไซเบอร์ และระบบตรวจสอบการหลอกลวงจากลิงก์ SMS ซึ่งออกแบบมาเพื่อวิเคราะห์ข้อความที่อาจแฝงด้วยภัยคุกคาม เช่น มัลแวร์และข้อความหลอกลวง โดยผลงานทั้งสองได้รับความสนใจอย่างยิ่งจากคณะผู้แทน สกมช. ทั้งในด้านแนวคิดการออกแบบ การประยุกต์ใช้จริง และศักยภาพของนักศึกษาในการพัฒนาต่อยอดในระดับประเทศ ทั้งนี้ มทร.ล้านนา ยังคงมุ่งมั่นเป็นศูนย์กลางการพัฒนาความรู้ด้านความปลอดภัยไซเบอร์ โดยให้บริการอบรมและประเมินความเสี่ยงแก่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนในจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อส่งเสริมขีดความสามารถในการป้องกันภัยคุกคามอย่างยั่งยืน ความร่วมมือครั้งนี้จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการเสริมสร้างกำลังคน เทคโนโลยี และนวัตกรรมด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ เพื่อประโยชน์ของประเทศในระยะยาวต่อไป
ข่าว/ภาพ : ชัชวาลย์ ศะศิวนิชย์ กลุ่มงานบริการการศึกษา สวส.มทร.ล้านนา