โลโก้เว็บไซต์ NIA และเครือข่ายพันธมิตร เดินหน้าเร่งปั้นสตาร์ทอัพปัญญาประดิษฐ์สายเกษตร ตั้งเป้าสร้างนวัตกรรมพลิกโฉมภาคการเกษตรไทยให้สามารถแข่งขันได้ในระดับโลก | สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ

NIA และเครือข่ายพันธมิตร เดินหน้าเร่งปั้นสตาร์ทอัพปัญญาประดิษฐ์สายเกษตร ตั้งเป้าสร้างนวัตกรรมพลิกโฉมภาคการเกษตรไทยให้สามารถแข่งขันได้ในระดับโลก

เผยแพร่เมื่อ : พฤหัสบดี 27 ตุลาคม 2565 โดย ณัฏฐ์พัฒน์ คนมีฉลาด จำนวนผู้เข้าชม 734 คน

(9) ผู้อ่านสามารถให้คะแนนบทความได้จากปุ่มข้างใต้

   จบลงไปแล้วสำหรับกิจกรรม AgTech AI Demo Day 2022 ภายใต้โครงการ “เครือข่ายความร่วมมือเพื่อพัฒนาสตาร์ทอัพด้านการเกษตรที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AgTech AI Consortium) ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรเครือข่าย เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา ณ SCG Digital Innovation Garage บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์–ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด
   ภายในงานวันนี้ เป็นการนำเสนอผลงานของสตาร์ทอัพปัญญาประดิษฐ์สายเกษตรของโครงการ 6 ทีม ที่ผ่านกระบวนการบ่มเพาะอย่างเข้มข้นผ่านกิจกรรมการเรียนรู้เสริมด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และด้านการสร้างธุรกิจแบบสตาร์ทอัพ ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ตลอดระยะเวลา 4 เดือน โดยได้รับเกียรติจาก ดร. พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ NIA กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงานในครั้งนี้ว่า
   NIA มีนโยบายที่ชัดเจนในการเร่งสร้างระบบนิเวศสตาร์ทอัพด้านการเกษตรของประเทศไทย โดยมีเป้าหมายเพื่อผลักดันสตาร์ทอัพไทยด้านการเกษตรให้ก้าวสู่การเป็นผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง ใน 3 ประเด็นหลัก คือ 1. พลิกโฉมเกษตรกรให้เป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ที่ประยุกต์ใช้นวัตกรรมทางเทคโนโลยีในการลดต้นทุน เพิ่มผลิตภาพ และสร้างตลาดใหม่ 2. ขยายการใช้งานนวัตกรรมทางเทคโนโลยีเหล่านี้ไปในระดับประเทศและในระดับนานาชาติ และ 3. การวางบทบาทให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจสตาร์ทอัพด้านการเกษตรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เชื่อมโยงกับศูนย์กลางสตาร์ทอัพด้านเกษตรระดับโลก
   ซึ่งโครงการ AgTech AI มีวัตถุประสงค์เพื่อเร่งสร้างสตาร์ทอัพไทยด้านการเกษตรที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเชิงลึก โดยเฉพาะเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ โดยมุ่งเน้นพัฒนาให้นักศึกษา นักวิจัย และศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยได้เตรียมความพร้อมในการเป็นผู้ประกอบการสตาร์ทอัพที่มีทักษะและความรู้ด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ สามารถพัฒนาต่อยอดสู่การสร้างนวัตกรรมแก้ปัญหาภาคการเกษตรของประเทศ สำหรับคณะกรรมการที่ให้เกียรติมาร่วมตัดสินและให้คำแนะนำแก่สตาร์ทอัพในวันนี้ ได้แก่ คุณเฉลิมพล ตู้จินดา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นาสท์ด้า โฮลดิ้ง จํากัด คุณเอกธัช ภัทระโภคพัฐ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาโครงการกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TED Fund) ผศ.ดร.นริศ หนูหอม ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ สมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย และคุณอภิรัตน์ หวานชะเอม Chief Digital Officer WEDO, SCG-CBM  

สรุปผลการตัดสินรางวัลจากคณะกรรมการ มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1. รางวัล The Winner Award และรางวัล The Most Think-out-of-the-box ได้แก่ ทีม REAl CMU ระบบน้ำพลาสมาไมโครบับเบิลสำหรับเพิ่มประสิทธิภาพการปลูกและเพิ่มผลผลิตพืชไฮโดรโปนิกส์ที่ควบคุมปัจจัยการเพาะปลูกด้วยระบบอัตโนมัติ และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์
2. รางวัล The First Runner Up และรางวัล The Best Engagement Award ได้แก่ ทีม FarmConnect Asia ระบบบริหารจัดการน้ำสำหรับแปลงเกษตร โดยใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์                             
3. รางวัล The Best Improvement ได้แก่ ทีม Pest AI “หมอพืช” แอปพลิเคชันทำนายและตรวจวิเคราะห์ศัตรูพืช (โรคพืช แมลงศัตรูพืช และวัชพืช)
 
ทั้งนี้ หากมีเกษตรกร ผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร นักลงทุน หรือหน่วยงานใด ที่สนใจในเทคโนโลยีของสตาร์ทอัพด้านการเกษตรทั้ง 6 ราย สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ นายสิรพัฒน์ ชนะกุล โทรศัพท์ : 02-017 5555 ต่อ 544 มือถือ : 091-541 5542 อีเมล : sirapat@nia.or.th

สำหรับท่านใดที่สนใจโครงการดีๆ แบบนี้ และพร้อมจะเป็นส่วนหนึ่งกับเรา สามารถรวมกลุ่มเป็นทีม และสมัครเข้าร่วมโครงการได้ โดยโครงการจะเริ่มเปิดรับสมัครช่วงต้นปี 2566 ติดตามรายละเอียดได้ที่สื่อประชาสัมพันธ์ของ NIA และเครือข่ายพันธมิตรของโครงการทุกช่องทาง

ที่มาข่าว : NIA : National Innovation Agency, Thailand