โลโก้เว็บไซต์ “เทล มี มอร์” มทร.ล้านนา - อินไซด์แคมปัส | สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ

“เทล มี มอร์” มทร.ล้านนา - อินไซด์แคมปัส

เผยแพร่เมื่อ : พุธ 9 มกราคม 2556 โดย ณัฏฐ์พัฒน์ คนมีฉลาด จำนวนผู้เข้าชม 158 คน

ยังไม่มีคะแนนสำหรับบทความนี้ ผู้อ่านสามารถให้คะแนนบทความได้จากปุ่มข้างใต้

  ทุกวันนี้มหาวิทยาลัยทั่วประเทศให้การตอบรับกระแสการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) กันอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการมุ่งเน้นพัฒนาภาษาอังกฤษให้แก่บัณฑิตไทย โดยแต่ละสถาบันก็มีเทคนิควิธีที่แตกต่างกันไปเพื่อเป้าหมายคือการยกระดับทักษะทางภาษาให้แก่นักศึกษาและคณาจารย์ในสถาบัน สำหรับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ล้านนา จ.เชียงใหม่ เลือกวิธีแรกเริ่มด้วยการใช้โปรแกรมพัฒนาภาษาอังกฤษสำเร็จรูปในชื่อว่า “เทล มี มอร์” (Tell Me More)

             ดร.จัตตุฤทธิ์ ทองปรอน รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มทร.ล้านนา บอกว่า โปรแกรมตัวนี้ตอบโจทย์ตามต้องการในเรื่องการพัฒนาภาษาอังกฤษให้แก่นักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัย จำนวนรวม 2.7 หมื่นคน ซึ่งกระจายตัวกันอยู่ใน 6 วิทยาเขต ประกอบด้วย ลำปาง ตาก น่าน พิษณุโลก เชียงราย และภาคพายัพเชียงใหม่ โดยที่มหาวิทยาลัยสามารถติดตามการเข้าใช้โปรแกรมได้เป็นรายบุคคล ในรูปแบบเรียลไทม์หรือตลอดเวลา ส่วนตัวผู้เรียนเองก็สามารถเรียนได้ทุกที่ทุกเวลาผ่านทางระบบออนไลน์ โดยวิธีการคือ
มหาวิทยาลัยจัดงบประมาณ 12 ล้านบาท ดำเนินการซื้อไลเซ่นส์จากบริษัทผู้ผลิต จำนวน 4 หมื่นไลเซ่นส์ จากนั้นกำหนดชื่อและรหัสสำหรับนักศึกษาและบุคลากรสำหรับเข้าใช้โปรแกรมเป็นรายบุคคล

              การศึกษาคือการลงทุน ดังนั้นที่ มทร.ล้านนา เราลงทุนครั้งเดียวเกินคุ้ม เพราะเมื่อคำนวณค่าเฉลี่ยออกมาจะเห็นว่า ค่าใช้จ่ายในการพัฒนาภาษาอังกฤษผ่านโปรแกรมตัวนี้ เป็นเงินไม่เกิน 400 บาทต่อหัว ทำให้นักศึกษาของเราได้ใช้โปรแกรมนี้อย่างน้อย 4 ปี เท่ากับค่าเรียนภาษาอังกฤษอยู่ที่ปีละ 100 บาทเท่านั้น นอกจากนี้ตัวโปรแกรมยังรับรองผลการพัฒนาเมื่อใช้งานอย่างน้อย 40 ชั่วโมง จะทำให้พัฒนาภาษาอังกฤษได้ที่ 0.5 ระดับ เมื่อเปรียบกับค่าการวัดมาตรฐานภาษาอังกฤษทั่วไป ดังนั้นหากนับตั้งแต่เข้าเรียนปีหนึ่งจนกระทั่งจบปีสี่ นักศึกษาของเราก็จะได้ทักษะภาษาอังกฤษเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 2 ระดับ จากทักษะเดิมของแต่ละคน“

               ดร.จัตตุฤทธิ์ บอกด้วยว่า การพัฒนาภาษาอังกฤษสำหรับองค์กรที่มีคนจำนวนมากนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ถึงแม้จะมีโปรแกรมสำหรับทุกคนแต่ถ้าผู้ใช้ไม่ใช้งานก็ไม่ได้ทำให้เกิดการพัฒนา ดังนั้นมหาวิทยาลัยจึงต้องอาศัยสารพัดวิธีในการจูงใจคณาจารย์และนักศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักศึกษาของที่นี่เป็นเด็กช่าง ส่วนใหญ่ก็ไม่ชอบเรียนภาษากันอยู่แล้ว วิธีจูงใจจึงเริ่มตั้งแต่การพาแกนนำนักศึกษาออกไปทัศนศึกษาต่างประเทศ และมีการจัดค่ายพาเด็กจากต่างประเทศมาเข้าร่วม ผลลัพธ์ที่ได้คือ นักศึกษาไทยจะรู้สึกเครียดเมื่อไม่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษกับเพื่อนชาวต่างชาติได้ และนั่นจึงเป็นที่มาของการตอบรับเข้าร่วมใช้โปรแกรม รวมถึงอีกหลายต่อหลายกิจกรรมที่เกิดขึ้นเพื่อพัฒนาการภาษาอังกฤษ

              ทั้งนี้ปัจจัยหลักของการพัฒนาภาษาอังกฤษในองค์กรอยู่ที่ความเอาใจใส่อย่างจริงจังของผู้บริหาร สำหรับ มทร.ล้านนา เราทำเต็มที่เพราะอธิการบดีเห็นความสำคัญอย่างมาก ส่วนตัวผมมองว่าการเรียนภาษาก็เหมือนกับการต้มน้ำ ถ้าคุณต้มนาน  5 นาที ได้น้ำเดือด แต่ถ้าคุณต้ม 1 นาทีแล้วหยุด แล้วต้ม 1 นาที แล้วหยุดอีก คุณคงไม่ได้น้ำเดือดแน่ ๆ“

             ดร.ยุพเยาว์ ดรุณ ผู้ช่วยอธิการบดีและหัวหน้างานวิเทศสัมพันธ์ กล่าวว่า มทร.ล้านนา เริ่มใช้โปรแกรมเทลมีมอร์ ตั้งแต่ปีการศึกษา 1/2555 แน่นอนว่านักศึกษาบางส่วนที่ไม่ได้เข้าไปเรียนรู้เลยก็มี แต่ส่วนที่เห็นความสำคัญและตั้งใจก็มีมากเหมือนกัน ขณะที่มหาวิทยาลัยเน้นการสนับสนุนทุกรูปแบบ อาทิ จัดกิจกรรมแข่งขันทักษะภาษาอังกฤษ การให้ทุนการศึกษาสำหรับนักศึกษาที่มีจำนวนชั่วโมงการเรียนผ่านโปรแกรมมากหรือสามารถเพิ่มระดับความรู้ได้ดี นอกจากนี้ยังมีการเสริมปัจจัยแวดล้อมด้วยการจัดตั้งชมรมภาษาอังกฤษ และว่าจ้างครูเจ้าของภาษามาทำหน้าที่ “อิงลิชแมน” โดยให้อยู่อาศัยในพื้นที่มหาวิทยาลัยเพื่อคอยให้คำแนะนำทักษะด้านต่าง ๆ แก่นักศึกษาที่สนใจด้วย ดังนั้นจึงมั่นใจเหลือเกินว่าบัณฑิต มทร.ล้านนา ในอนาคตจะต้องมีทักษะภาษาที่ดี.

ครบเครื่องเรื่องแคมปัส
อินไซด์แคมปัส dailynews.co.th online