เผยแพร่เมื่อ : พฤหัสบดี 26 ตุลาคม 2566 โดย อภิญญา พูลทรัพย์ จำนวนผู้เข้าชม 3,859 คน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ จัตตุฤทธิ์ ทองปรอนรักษาราชการอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา พร้อมด้วยผู้บริหารและบุคลากร เข้าร่วมการประชุมวิชาการนานาชาติ ASIC Annual Conference ณ นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ระหว่างวันที่ 24 – 27 ตุลาคม 2566 เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการประกันคุณภาพการศึกษาและการประเมินคุณภาพการศึกษานานาชาติแบบดิจิทัล ที่มีความสอดคล้องกับ SDG ของสหประชาชาติ ทันต่อการเปลี่ยนแปลงการศึกษาทั่วโลก และช่วยพัฒนาชุมชนและสังคมอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ยังถือเป็นโอกาสอันดีในการนำเสนอมหาวิทยาลัยให้เป็นที่รู้จักและสร้างเครือข่ายร่วมกับมหาวิทยาลัยจากนานาประเทศทั่วโลก นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยยังได้นำผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการพัฒนา Packaging และการผลิตชาใบชาเชียงดา จากอาจารย์ มทร.ล้านนา ภายใต้โครงการ U2T มาจัดนิทรรศการในครั้งนี้ด้วย การจัดนิทรรศการดังกล่าวได้รับความสนใจจากมหาวิทยาลัยนานาชาติที่เข้าร่วมเป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นการเปิดช่องทางให้ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นของประเทศเป็นที่รู้จักในระดับสากล
ในโอกาสนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ จัตตุฤทธิ์ ทองปรอน ได้รับรางวัลชนะเลิศในหัวข้อ Duty of Care for Community จาก Accreditation Service for International Schools, Colleges & Universities (ASIC) และได้รับรางวัล Excellence Awards ในหมวด Innovation for Community อีกทั้งยังได้รับเชิญให้ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ในเวทีระดับนานาชาติ ในหัวข้อ “RMUTL: Innovation for Community under Sustainable Development Goals” โดยการกล่าวสุนทรพจน์ได้พูดถึงการที่มหาวิทยาลัยให้ความสำคัญกับการพัฒนาชุมชน การสร้างนวัตกรรมเพื่อชุมชน และการทำงานร่วมกับชุมชน ภายใต้หลักการของแผนการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ
ซึ่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ได้รับคำชื่นชมจากหน่วยงาน ASIC และมหาวิทยาลัยนานาชาติ และได้รับความสนใจเกี่ยวกับหลายโครงการที่เกี่ยวข้องชุมชน โดยมหาวิทยาลัยได้ให้ความสำคัญกับชุมชน และเล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาท้องถิ่นไปพร้อมกับการพัฒนามหาวิทยาลัย ทั้งนี้ มีมหาวิทยาลัยนานาชาติมีความต้องการทำความร่วมมือกับ มทร.ล้านนาเป็นอย่างมาก ถือเป็นโอกาสอันดีของมหาวิทยาลัยในการขยายโอกาส สร้างชื่อเสียง และขยายเครือข่ายให้มีความร่วมมือในระดับสากลให้มากยิ่งขึ้น
คลังรูปภาพ : Asic2023